mongtenk http://tdeaht01.siam2web.com/


                         เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องกระเบื้องถ้วยที่มีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่โบราณจนถึงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อาจจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภท ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบเขมรหรือลพบุรี เครื่องสังคโลกสมัยกรุงสุโขทัย เครื่องถ้วยจีน ซึ่งรวมเครื่องถ้วยลายเขียนสี เครื่องลายคราม เครื่องถ้วยเบญจรงค์ และเครื่องลายน้ำทองซึ่งเป็นเครื่องถ้วยสินค้าออกของจีน
                         เครื่องถ้วยเบญจรงค์ และลายน้ำทอง เป็นเครื่องถ้วยที่สั่งทำจากประเทศจีน แต่ลวดลายสีสันเป็นแบบไทย ฝีมือเขียนของช่างไทย ฉะนั้นลักษณะของเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทองจึงมีความงามอย่างไทยยิ่งกว่าเครื่องถ้วยประเภทอื่นๆ แม้แต่เครื่องสังคโลกซึ่งเป็นของไทยเอง ผลิตในประเทศไทย ก็ยังไม่แสดงเอกลักษณ์ไทยอย่างเครื่องถ้วยเบญจรงค์ และเครื่องถ้วยลายน้ำทอง ซึ่งผลิตในประเทศจีนสำหรับใช้ในราชสำนักไทย และสำหรับเจ้านายและข้าราชการชั้นสูง ลวดลายสีสันบนเครื่องถ้วยเป็นลวดลายไทย แม้จะมีลวดลายอิทธิพลจีนบ้าง แต่ก็ยังมีลักษณะเฉพาะของไทยอยู่ และเป็นเครื่องถ้วยที่ผลิตสำหรับประเทศไทยเท่านั้น จัดเป็นเครื่องถ้วยฝีมือสูง เป็นของใช้ในราชสำนัก ในวังเจ้านาย และบ้านขุนนางชั้นสูง ไม่ใช่สำหรับจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
                         เครื่องถ้วยเบญจรงค์จะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น ไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยัน แต่สันนิษฐานจากที่มีการขุดพบในพระนครศรีอยุธยา และจากลักษณะของลวดลายและสี เปรียบเทียบกับเครื่องถ้วยจีน และบางชิ้นที่มีเครื่องหมายบอกรัชกาล เชื่อว่าจะมีการสั่งทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์จากประเทศจีนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยอยุธยาโดยทั่วไปนิยมใช้เครื่องถ้วยจีน ทั้งลายครามและลายเขียนสีที่สั่งผลิตและซื้อหาโดยง่ายจากประเทศจีน ซึ่งมีการค้าขายอยู่ในเอเชียอาคเนย์อย่างกว้างขวาง เครื่องถ้วยเขียนสีของจีนที่สั่งไปขายนั้นเป็นเครื่องถ้วยเขียนสีบนกระเบื้องขาว ส่วนใหญ่เขียนสีไม่ผสมเคลือบ ส่วนเครื่องถ้วยเบญจรงค์นั้นเป็นเครื่องถ้วยที่ใช้สีมาก 5 สี ถึง 8 สี และเขียนสีผสมเคลือบ จึงเชื่อกันว่าไทยสั่งเครื่องถ้วยกระเบื้องขาวจากจีน แล้วช่างไทยเขียนลายไทยลงบนเครื่องถ้วยส่งกลับไปเผาในประเทศจีน หรือถ้าเป็นของในราชสำนักที่ต้องประณีตเป็นพิเศษก็อาจส่งช่างไทยไปควบคุม การที่เขียนสีเคลือบบนเคลือบขาว จึงทำให้เครื่องถ้วยเบญจรงค์มีสีนูนคล้ายสีลงยาบนกระเบื้องถ้วย ไม่เว้นที่ว่าง เขียนลวดลายเต็มหมด ส่วนเครื่องถ้วยที่เรียกว่าลายน้ำทองนั้น ใช้สีเคลือบบนกระเบื้องเช่นเดียวกับเบญจรงค์แต่เพิ่มสีทอง โดยเขียนพื้นเป็นสีทอง หรือแต้มสีทองระหว่างสีเบญจรงค์หรือเขียนสีทองตัดเส้น
                         เบญจรงค์แปลว่าห้าสี การใช้สีบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์ส่วนใหญ่จะมีตั้งแต่ห้าสีถึงเจ็ดแปดสี และสีที่ใช้สำหรับเครื่องเบญจรงค์ที่เป็นหลักอยู่ ได้แก่ แดง เหลือง ขาว ดำ เขียว หรือน้ำเงิน สีอื่นก็มีใช้ เช่น ชมพู ม่วง แสด น้ำตาล เครื่องถ้วยเบญจรงค์ และลายน้ำทอง ผลิตเป็นภาชนะเครื่องใช้หลายประเภทได้แก่ ชาม จาน โถ จานเชิง ชามเชิง ช้อน กระโทน กาน้ำ ชุดถ้วยชา และชุดเครื่องโต๊ะบูชา รูปทรงเครื่องถ้วยมีทั้งทรวดทรงแบบจีนและทรงไทย ชามฝาเป็นแบบที่สั่งสำหรับไทยใช้เป็นชุดสำรับอาหาร จานเชิงหรือพานเป็นนั้น เป็นแบบของไทยสั่ง ใช้เป็นภาชนะใส่อาหาร โดยเรียงซ้อนเป็นชั้นๆ จากใหญ่ไปหาเล็กสุด ที่เป็นโถนั้นมีมากมายหลายแบบหลายทรง เช่น โถรูปแตง โถทรงโกศ โถทรงมะเฟือง และโถปริก เป็นต้น ฝาโถนั้นมีมากแบบ เช่น ยอดทรงมัณฑ์ ยอดลูกแก้วกลม เป็นต้น
                         เครื่องถ้วยเบญจรงค์สมัยอยุธยา มีชามทรงมะนาวตัด และทรงบัว ลวดลายในสมัยอยุธยา ได้แก่ เทพนมนรสิงห์ มีลายกนกเป็นเปลวประกอบ เป็นชามที่มีฝีมือประณีต ภายในชามเคลือบเขียวเข้าใจว่าจะเป็นของที่ใช้ในราชสำนัก ส่วนที่ฝีมือไม่ประณีต และมีลักษณะเป็นจีนก็มีเช่น ลายเทพนมจีน (เทวดาท้องพลุ้ย) ซึ่งมีพื้นสีต่างๆ เช่น เหลือง ชมพู ม่วงอ่อน
                         ในสมัยกรุงธนบุรีก็จะสั่งเครื่องถ้วยต่างๆ จากเมืองจีนสืบต่อจากอยุธยา รวมทั้งเครื่องถ้วยเบญจรงค์ด้วย สันนิษฐานว่าถ้วยชามเบญจรงค์สมัยกรุงธนบุรียังคงใช้ลวดลาย และสีอย่างสมัยอยุธยา ส่วนรูปทรงอาจจะเปลี่ยนเพี้ยนไป เช่น ชามนิยมชามทรงบัว ภายในเคลือบขาวหรือเขียวน้ำทะเลไม่มีลวดลาย
                         ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีวิวัฒนาการสืบต่อจากแบบลวดลายสมัยอยุธยาและธนบุรี ชามสมัยรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่จะเป็นชามทรงบัวปากผาย มีลายที่ปากชามเล็กน้อย มีโถรูปทรงต่างๆ มากมาย และลวดลายที่น่าสนใจ เช่น ลายราชสีห์ ครุฑ สิงห์ นรสิงห์ กินรี หนุมาน ประกอบลายกนกเปลว และก้านขด มีการสั่งทำเครื่องถ้วยลายน้ำทอง เช่น ในรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นสมัยที่ศิลปกรรมเจริญรุ่งเรือง
                         ในรัชกาลที่ 2 (2352-2363) สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีทรงกำกับห้องเครื่องฝ่ายใน และทรงสั่งเครื่องถ้วยสำหรับใช้ในราชำนัก จึงได้สั่งเครื่องถ้วยลายน้ำทองเข้ามาใช้ มีลวดลายประดิษฐ์ใหม่ เช่น ลายกุหลาบ และใช้ลายแบบจีน เช่น ลายดอกไม้จีน เครื่องถ้วยลายน้ำทองที่ผลิตขึ้นใหม่นี้ เป็นการเพิ่มสีทองขึ้นจากสีเบญจรงค์ที่นิยมใช้อยู่ ซึ่งเข้าใจว่าสีทองที่ใช้นั้นมีทั้งเขียนก่อนสีเคลือบเบญจรงค์ และภายหลังสีเบญจรงค์ หากเขียนสีทองเป็นพื้นก่อนแล้วเขียนสีเคลือบเบญจรงค์ภายหลังจะมีปัญหาเรื่องอุณหภูมิในการเผา สีเบญจรงค์ใช้ความร้อน 750 - 850 องศาเซนติเกรด ส่วนทองใช้ 700 - 800 องศาเซนติเกรด ถ้าเขียนสีทองก่อนแล้วเขียนสีเบญจรงค์ทับการเผาจะใช้ไฟสูงมากไม่ได้ เพราะจะทำให้สีทองละลาย และเมื่อใช้ไฟเผาไม่สูงพอ สีเคลือบเบญจรงค์ไม่ติดแน่น ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่าเครื่องถ้วยลายน้ำทองที่มีสีทองเป็นสีพื้นเขียนสีเบญจรงค์ทับสีจะหลุดง่ายและบางส่วนสีเบญจรงค์ติดแน่นแต่สีทองถูกหลอมหลุดไปเพราะการเผาไฟสูงเกินขนาดของสีทอง ที่สีทองติดดีคงจะเป็นการลงทองภายหลังสีเคลือบ และจากหลักฐานนี้จึงเชื่อว่ามีการใช้สีทองทั้งก่อนและหลังสีเคลือบเบญจรงค์ แต่ผู้รู้ทางเทคนิคบางท่านเชื่อว่าอาจเผาพร้อมกันก็ได้ เพราะผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันเผาพร้อมกันได้ นอกจากนั้นยังปรากฏว่าในสมัยหลังๆ มีการเขียนลายน้ำทองทับไปบนเครื่องถ้วยลายครามของจีน โดยเผาในเมืองไทย ลวดลายที่ใช้เขียนบนเครื่องถ้วยลายน้ำทองที่ใช้มากโดยเฉพาะได้แก่ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายก้านแย่ง ลายก้านต่อดอก ลายก้านขด ลายกุหลาย ลายดอกไม้ ลายกลีบบัว และลายที่เป็นลายจีน ได้แก่ ลายดอกไม้สี่ฤดู ผีเสื้อ ค้างคาว แมลงปอ ดอกพุดตาล สิงโต หรือสุนัขจีน เป็นต้น

                         ในสมัยรัชกาลที่ 3 (2367-2394) การสั่งเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทองจากประเทศจีนยังคงมีอยู่ บางชิ้นมีเครื่องหมายอยู่ที่ก้นชาม ทำให้ทราบว่าเป็นของสั่งมาสมัยรัชกาลที่ 3 นิยมลวดลายแบบจีน

                         ในสมัยรัชกาลที่ 4 (2394-2411) เป็นสมัยที่พ่อค้ายุโรปนำสินค้าเข้ามาแพร่หลายเป็นที่นิยมรวมทั้งเครื่องถ้วยจากยุโรปด้วย เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทองจึงลดน้อยลง สมัยนี้นิยมสั่งเครื่องลายครามมากกว่าเบญจรงค์ รวมทั้งเครื่องลายครามที่เขียนเป็นลายไทยด้วย ลายน้ำทองในสมัยนี้ปรากฎมีลายทองเขียนทับไปบนลายคราม ลวดลายที่นิยมมีลายบัวบานหรือกลีบบัวและพรรณพฤกษา

                         ในสมัยรัชกาลที่ 5 (2411-2453) เป็นยุคสุดท้ายของเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง เป็นสม้ยที่นิยมเครื่องถ้วยยุโรป เครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยญี่ปุ่น ในสมัยนี้มีการเขียนสีเผาในกรุงเทพฯ ดังเช่นเตาเผาของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญในพระบวรราชวัง และมีการเขียนลายไทยทับบนเครื่องลายครามกันมาก มีการจัดงานประกวดกันหลายครั้ง

                         สรุปได้ว่าเครื่องถ้วยเบญจรงค์และเครื่องถ้วยลายน้ำทองเป็นเครื่องถ้วยจีน-ไทย ด้วยเป็นของจีนที่ผลิตขึ้นตามแบบที่ไทยสั่งสำหรับจำหน่ายแก่ประเทศไทยโดยเฉพาะ ลวดลายสีสันแสดงเอกลักษณ์ของไทย จัดเป็นเครื่องถ้วยชั้นสูงที่มีคุณค่าทางประณีตศิลป์ ผู้ที่มีเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทองจะเก็บรักษากันเป็นอย่างดี ด้วยความรู้สึกชื่มชมว่าเป็นของงามประณีตที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยและมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 4,154 Today: 3 PageView/Month: 1

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...